"ระบบแอดมิชชั่นส์กำลังพ่นพิษสร้างความหายนะต่อวงการศึกษาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทยด้วยการจัดการศึกษาในสาระการเรียนรู้สำหรับช่วงชั้นที่ 4 (ม-ม.6)นั้นพบว่าการเรียนการสอน ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ของการประเมินผลเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบแอดมิชชั่นส์"
นี่คือมุมมองของ" รศ.เย็นใจ สมวิเชียร" กรรมการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ผู้รู้ลึกรู้จริง ในวงการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นแนวหน้าของเมืองไทย และเธอคือผู้อยู่เบื้องหลังการปั้นเด็กหัวกะทิให้สามารถพิชิตรางวัลโอลิมปิกวิชาการมาครอง
รศ.เย็นใจชี้ว่า เมื่อเด็กชั้นม.4-ม.6 สามารถเลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ จึงมีเด็ก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นสายวิทยาศาสตร์ และกลุ่มที่เน้นสานศิลปศาสตร์ เด็กทั้ง 2 กลุ่มจะต้องเรียนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน 4 รายวิชา 6 หน่วยกิต แยกเป็นรายวิชาดังนี้ 1.แรงและการเคลื่อนที่(ฟิสิกส์),2.โลกดาราศาสตร์และอวกาศ(ดาราศาสตร์), 3.สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต(ชีววิทยา)และ 4.สารและสมบัติของสาร(เคมี)
ส่วนเด็กสายวิทย์จะต้องเรียนเพิ่มอีก26-30 หน่วยกิต เพื่อให้มีพื้นฐานเพียงพอ ที่จะไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา อีก 17 รายวิชาได้แก่ เคมี 5 รายวิชา, ชีววิทยา 5 รายวิชา, ฟิสิกส์ 6 รายวิชา และดาราศาสตร์ 1 รายวิชา
การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต)นักเรียนม.6ทุกคน จะสอบเฉพาะสาระการเรียนรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์เพียง 4 รายวิชา เมื่อทุกคนต้องสอบเหมือนกัน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ 1.ข้อสอบออกยากไม่ได้เพราะเด็กสายศิลป์จะทำไม่ได้ ส่วนเด็กสายวิทย์ จะง่ายมากๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่ามีคนได้คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เต็ม คะแนน และมีคนได้ 0 คะแนน 2.ไม่สามารถแยกแยะนักเรียนสายวิทย์ได้ว่ามีความรู้พื้นฐานแค่ไหนเพราะข้อสอบออกระดับม.3
"ข้อสอบโอเน็ต จึงประเมินความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กสายวิทย์ไม่ได้ เพราะไม่ได้ประเมิน ความรู้ที่เรียนมาอีก17 รายวิชาที่เรียนมาตลอดเวลา 3 ปี(ม.4-ม.6)" รศ.เย็นใจ ระบุ
สำหรับข้อสอบเอเน็ตหรือการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง ปกติต้องสอบความรู้ทุกรายวิชา เพื่อทราบว่านักเรียนจะเรียนต่อในระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้หรือไม่ แต่สอบเอเน็ตใช้เวลา 1 ชั่วโมง เพื่อสอบ 3-4 วิชาคือ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ซึ่งรวม ดาราศาสตร์ด้วย เมื่อเด็กต้องสอบเนื้อหาวิชาที่แตกต่างกันมา จึงทำให้เด็กสับสน ผลคือเด็กทำไม่ได้ หรือ ทำไม่ทัน หรือไม่ทำ
อีกทั้งเวลาสอบไม่สัมพันธ์กับการเรียน เพราะเรียนตลอด 3 ปี (ม-6) เคมี 60 ชั่วโมง ชีววิทยา 60 ชั่วโมง ฟิสิกส์ 80 ชั่วโมง และดาราศาสตร์ 40 ชั่วโมง ทำให้ข้อสอบไม่ครอบคลุมเนื้อหาที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อในระดับสูงได้ ไม่สามารถแยกเด็กได้ว่ามีความรู้มากพอที่จะเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อหรือไม่
การให้น้ำหนัก100 คะแนนในกลุ่มสาระการเรียนรู้รายวิชา ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์และ ดาราศาสตร์ เท่ากันจึงไม่เป็นธรรมกับเด็กสายวิทย์ เพราะถ้านักเรียนสอบได้คะแนนสูงในวิชา ภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษก็เข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ฯลฯ ได้
ผลเสียที่เกิดขึ้นเด็กกวดวิชาเพิ่ม เด็กที่เรียนเก่งด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ ไม่สนใจพัฒนาตนเองด้านวิทยาศาสตร์ แต่มุ่งไปกวดวิชาด้านภาษาไทยและสังคมศึกษาแทน ทำให้ผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ได้ผลเต็มประสิทธิภาพ
"ก่อให้เกิดความเสียหายต่อวงการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้เกิดขึ้นแล้ว ในคณะวิทยาศาสตร์และคณะที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ที่ใช้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น วิศวกรรมศาสตร์และแพทยศาสตร์ ดูจากเกรดเฉลี่ยของนิสิตชั้นปีที่วิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 -2550 จาก 1.94, ลดลงเป็น 1.93, 1.29, จนเหลือ 1.2 ทั้งๆที่ข้อสอบง่าย และสองปีหลังมีนิสิตขอถอนประมาณครึ่งหนึ่ง ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ทำให้สูญเสียทั้งงบประมาณและเสียเวลาในการพัฒนาบุคลากร" รศ.เย็นใจ ระบุ
จะเห็นได้ว่า"แอดมิชชั่นส์" ทำให้เกิดความหายนะ ต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยล้าหลังนานาชาติ ทั้งๆ ที่บุคลากรมีคุณภาพ แต่ระบบการสอบและระบบการศึกษาทำลายบุคคลเหล่านี้
1 ความคิดเห็น:
ทำไมถึงต้องเรียนแบบต่างชาติ
เราควรที่จะมองว่าเด็กไทยของเราเป็นอย่างไร
เพราะตั้งแตมีกระบวนการสอบแอดมิดชั่น ไม่ได้หมายความว่าวัดความรู้ นักเรียนได้ทีเดียว และควรมีการสนับสนุนให้อาจารย์ตามโรงเรียนสอนคล้ายๆกวดวิชา เพื่อเด็กจะได้มีความสนใจเรียนและตั้งใจมากกว่านี้
ID 5131601232
แสดงความคิดเห็น