เปิดคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ กรณี "สมัคร" จัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกโขยงหกโมงเช้า" ศาลฯ ระบุชัดมีการทำหลักฐานย้อนหลัง ส่อพิรุธ ตั้งใจปกปิดเกี่ยวกับค่าตอบแทน ตัดสินทำผิดจริงขัดต่อ มาตรา 267 ส่งผลให้ต้องพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 9 กันยายน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ ส.ว.จำนวน 29 คน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องที่ 1-2 ตามลำดับ เพื่อขอให้วินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 กรณีการจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกโขยงหกโมงเช้า" ดังนี้
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจง การแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบ พยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และคำเบิกความจากพยานบุคคลแล้ว เห็นว่าคดีทั้ง 2 มีพยานหลักฐานที่เพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยมีการกำหนดประเด็นที่พิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 267 เพราะเหตุผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งใดในบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่มุ่งหาผลประโยชน์ กำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวหรือไม่
มีปัญหาประการแรกที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรมซึ่งยากในการตัดสินใจทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ฐานขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงขัดกันในลักษณะที่ประโยชน์ส่วนตัว จะได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ
การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผล จึงไม่ใช่แปลความคำว่า "ลูกจ้าง" ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามเหตุผล และการบัญญัติกฎหมายนั้นๆ ทั้งกฎหมายดังกล่าวก็ยังมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย
อนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การปกครองประเทศ เนื่องจากตั้งรับรองสถานะของสถาบันและสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กำหนดพื้นฐานการดำเนินการของรัฐ เพื่อให้รัฐได้ใช้เป็นหลักใช้ปรับกับสภาวการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์
ดังนั้น คำว่าลูกจ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จึงมีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมายอื่น โดยต้องแปลตามความหมายทั่วไป ซึ่งตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างว่า หมายถึงผู้รับจ้างทำการงานผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากมีการตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าลูกจ้าง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ทั้งสิ้น
มิฉะนั้นผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ที่รับจ้างรับค่าจ้างเป็นรายเดือนในลักษณะสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีก็สามารถทำงานต่อไปได้ โดยเปลี่ยนค่าตอบแทนจากค่าจ้างรายเดือน มาเป็นสินจ้างตามการทำงานที่ทำ เช่น แพทย์เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่ารักษาตามจำนวนคนไข้ ที่ปรึกษากฎหมายก็เปลี่ยนจากเงินเดือนมาเป็นค่าปรึกษาหรือค่าทำความเห็นมาเป็นรายครั้ง ซึ่งก็ยังผูกพันกันในเชิงผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้ที่รับทำงานให้ เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์ให้หาช่องทางหลีกเลี่ยงให้ทำได้โดยง่าย
ข้อเท็จจริงได้จากการไต่สวนผู้ถูกร้อง หลังจากผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้ถูกร้องยังเป็นพิธีกรในรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยงหกโมงเช้า" ให้กับ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะกิจการงานที่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ได้กระทำร่วมกันกับผู้ถูกร้องมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี โดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เพื่อมุ่งค้าหากำไร ไม่ใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะ และภารกิจเมื่อได้กระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา 267 ประสงค์จะป้องปรามเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคธุรกิจเอกชนแล้ว ทั้งยังปรากฏจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ถูกร้องในหนังสือ "สกุลไทย" ฉบับที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 23 ตุลาคม 2544 หน้า 37 อีกด้วยว่า การทำหน้าที่พิธีกรกิตติมศักดิ์รายการโทรทัศน์ "ชิมไปบ่นไป" ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 10.30-11.00 น. ทางสถานีไอทีวี ผลิตรายการโดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดนั้น ผู้ถูกร้องได้รับเงินเดือนจากบริษัทเดือนละ 8 หมื่นบาท
สำหรับหนังสือของ นายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ที่มีถึงผู้ถูกร้องลงวันที่ 15 ธันวาคม 2550 ปรึกษาว่าผู้ถูกร้องจะดำเนินการอย่างไรในการเป็นพิธีกรรับเชิญในรายการ "ชิมไปบ่นไป" และหนังสือของผู้ถูกร้องมีถึงนายศักดิ์ชัย ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2550 แจ้งว่าผู้ถูกร้องจะทำให้เปล่าๆ โดยไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเหมือนอย่างเคยนั้น ผู้ถูกร้องไม่เคยแสดงหนังสือทั้ง 2 ฉบับนี้มาก่อนจะถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งเรียกให้ชี้แจง โดยผู้ถูกร้องชี้แจงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 และยังคงยืนยันเสมือนว่าก่อนเดือนธันวาคม 2550 ผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของนางดาริกา รุ่งโรจน์ พนักงานบัญชีของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด และหลักฐานทางภาษีอากรดังกล่าวข้างต้น ที่ว่าก่อนหน้านั้นผู้ถูกร้องได้รับค่าจ้างแสดง ไม่ใช่ค่าน้ำมันรถ อันเป็นข้อพิรุธ ส่อแสดงว่าเป็นการทำหลักฐานย้อนหลัง เพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้ถูกร้อง ทั้งผู้ถูกร้องเองเบิกความว่าผู้ถูกร้องไม่ได้รับค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่าย น่าจะเป็นการนำเงินไปให้คนขับรถมากกว่า ก็ขัดแย้งกับคำชี้แจงของผู้ถูกร้อง ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ที่ให้การว่า การที่ผู้ถูกร้องได้รับเชิญไปในรายการ "ชิมไปบ่นไป" น่าจะได้รับค่าพาหนะ โดยค่าพาหนะจะได้รับเฉพาะเมื่อไดไปออกรายการเท่านั้น ถ้าไม่ไปออกรายการตามที่เชิญมากก็ไม่ได้รับค่าพาหนะ จึงรับฟังเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้
พยานหลักฐานทั้งหมดมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องทำหน้าที่พิธีกรในรายการ "ชิมไปบ่นไป" หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยผู้ถูกร้องยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องเป็นพิธีกรให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการรับจ้างการทำงานตามความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 แล้ว กรณีถือได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)
อนึ่ง มีตุลาการรัฐธรรมนูญ 6 คน เห็นว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งใดในบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัดหรือไม่อีก ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 3 คน เห็นว่าการเป็นพิธีกร การใช้ชื่อรายการ "ชิมไปบ่นไป" และใช้รูปใบหน้าของผู้ถูกร้องในรายการของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกร้องให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วน โดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน และไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่า ผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 หรือไม่อีก
อาศัยเหตุผลข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว
เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ จึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1220970089&grpid=04&catid=17
คุณคิดอย่างไรกับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ
นางสาวกนกวรรณ ศรีละออง
5131601221