จำได้ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ร้อนแรงขึ้น ภายหลังจากการจับกุมตัวบุคคลที่ทางการกล่าวหาว่าเป็น "กบฏ" จำนวน 13 คน
น่าสนใจว่า ขณะนี้ ทางการก็ได้ตั้งข้อหา "กบฏ" เอากับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำนวน 9 คน และกำลังพยายามจะเข้าจับกุมตัวผู้ต้องหา และสลายการชุมนุมของประชาชนที่ปักหลักอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ตลอดจนบริเวณท้องถนนโดยรอบ
ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายอมร อมรรัตนานนท์, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายเทิดภูมิ ใจดี
เราไม่ควรลืมบทเรียนในปี 2516 เมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นหลังการจับกุม "กบฏ 13 คน" แล้ว ต่อมาในภายหลัง แม้ทางการจะยอมปล่อยตัว "กบฏ 13 คน" แต่สถานการณ์ก็ได้ขยายตัวลุกลามไปจนเกินกว่าจะควบคุมได้เสียแล้ว
ดังนั้น ก่อนจะปล่อยให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ทำอะไรโง่ๆ แล้วมีผลทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหายมากไปกว่านี้ ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในบ้านเมือง ผู้ปกบ้านป้องเมืองทั้งหลาย ควรจะ "คิดหน้า-คิดหลัง" ให้รอบคอบและแม่นยำ
คิดหน้า คือ คิดไปข้างหน้า ว่าผลจากการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลนายสมัคร จะนำพาบ้านเมืองไปสู่สถานการณ์แบบใด
คิดหลัง คือ คิดถึงที่มา-ที่ไปของปัญหา สาเหตุที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วงขับไล่รัฐบาลชุดนี้
ชาติบ้านเมืองเป็นของนายสมัคร สุนทรเวช คนเดียวหรือ ?
ชะตากรรมของประเทศชาติ ตกอยู่ในอุ้งมือของคนที่ประกาศตัวว่าเป็นนอมินีให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และยืนยันว่า จะไม่เนรคุณทักษิณ เท่านั้นหรือ ?
นายสมัคร เป็นคนที่มีชนักติดหลัง มีคดีติดตัว มีผลประโยชน์ส่วนตัว หรือมี "เดิมพันส่วนตัว" แอบแฝงอยู่ในการใช้อำนาจรัฐอย่างยิ่งยวด
ทางเลือกที่ดีที่สุด ละมุมละม่อมที่สุด เป็นทางออกเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติส่วนรวม อาจจะไม่ถูกเลือก หากมันไม่ใช่หนทางที่เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเดิมพันส่วนตัวของผู้กุมอำนาจรัฐ
คนแบบนี้ ยังควรวางใจให้ยึดครองอำนาจรัฐในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ อีกหรือ?
รัฐสภาต้องคิด และต้องแสดงบทบาท
กองทัพต้องคิด และต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจน
นักวิชาการต้องคิด และต้องแสดงออก
สื่อมวลชน และสมาคมวิชาชีพสื่อ จะต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งและชัดเจนยิ่งกว่านี้ ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ปลุกระดมใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะสื่อของรัฐที่กระจายสู่วงกว้าง จะต้องไม่ให้ฝ่ายการเมืองของรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต
ประชาชนที่มีสติปัญญา มีความรู้เท่าทันเหตุบ้านการเมืองในยามนี้ ก็ต้องคิด และต้องแสดงจุดยืน
อำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตย มี 3 ส่วน คือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ
สถานการณ์ในขณะนี้ คือ "อำนาจบริหาร" หรือ "รัฐบาลนายสมัคร" ตกอยู่ในสภาพ "ติดหล่ม" ไม่ได้รับการยอมรับ สูญสิ้นความสามารถในการปกครองประเทศ
อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร คือ ส.ส.ทั้งหลาย และวุฒิสภา คือ ส.ว.ทั้งหลาย จะต้องแสดงบทบาทในการ "ถอดสลัก" ปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองโดยด่วนที่สุด
ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายตุลาการ คือ ศาลยุติธรรม (โดยเฉพาะศาลฎีกา) ศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจตุลาการส่วนหนึ่ง (ป.ป.ช. /ผู้ตรวจการแผ่นดิน) จะต้องมีความกล้าหาญ และตระหนักถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้โดยไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง
เราทุกคน มีภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่จะต้อง "ทำอะไรบางอย่าง" เพื่อช่วยให้ประเทศชาติก้าวข้ามความรุนแรง และหลุดพ้นไปจาก "เงามืดของทรราช" !
อย่ารอให้เลือดนองแผ่นดิน !
นางสาวสากียะห์ หะรงค์
5131202082http://www.naewna.com