นักวิชาการชำแหละ 3 ปมไฟใต้โชน
ชี้การเมืองป่วนตัวเร่งสถานการณ์!
โดยชี้ว่า
ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง
มีเหตุปัจจัยอยู่ 3 ประการคือ
1.การบริหารจัดการของหน่วยกำลังในพื้นที่อยู่ในสภาวะชะงักงัน
ดร.ปณิธาน อธิบายว่า สืบเนื่องจากโครงสร้างใหม่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ยังไม่มีความชัดเจน เพราะเมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย. โครงสร้างใหม่ของ กอ.รมน.เพิ่งเริ่มนำมาใช้ หลังจากมีพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ออกมา แต่หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบแล้ว โครงสร้างกลับยังมีปัญหา เพราะยังมีการปรับเปลี่ยนน้อยมาก โดยเฉพาะในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งมีกำลังถึง 60,000 คน กำลังขนาดนี้ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน รัดกุม และมีเอกภาพมากกว่าที่มีอยู่ "เราทะยอยเอาคนลงไปในพื้นที่สามจังหวัดเป็นหมื่นๆ คน แต่กลับไม่มีกรอบงานที่ชัดเจน โครงสร้างที่มีอยู่ก็เป็นลักษณะทดลองใช้ ทะยอยเอาทหารหลายกองทัพภาคลงไปเพื่อให้ทดลองบริหารจัดการ เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง หากเห็นว่าโครงสร้างที่ใช้อยู่มีความจำเป็นขึ้นมา ก็จะต้องมีคำสั่งที่ชัดเจน แต่ก็ทำไม่ได้เพราะปัญหาการเมืองในกรุงเทพฯ ทำให้ทุกอย่างอยู่ในภาวะชะงักงันไปหมด" "ปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทั้งผู้นำรัฐบาล และผู้นำกองทัพ ต้องแก้ปัญหาการเมืองอยู่ในกรุงเทพฯเยอะมาก กำลังพลที่ลงไปทำงานในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงชะงักงัน ยกเว้นบางพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการเองได้ แต่ก็เป็นเพียงบางอำเภอ แต่ส่วนใหญ่ทำได้แค่ตรึงสถานการณ์ ส่วนพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อนอยู่เพราะยังบริหารจัดการร่วมกับคนในพื้นที่ไม่ได้ ความไม่สงบก็จะไหลเข้าไป เพราะกลุ่มผู้ก่อการเห็นจุดอ่อน" "ฉะนั้นพื้นที่ไหนที่อยู่ในช่วงสถานปนาของหน่วยงานความมั่นคง เพิ่งจัดตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือ ผบ.ฉก. (ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจ) เพิ่งจะเข้าไปใหม่ ยังผนึกกำลังกับส่วนอื่นไม่ได้ พื้นที่พวกนี้ก็จะถูกโจมตี" ดร.ปณิธาน ระบุ
2.ช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
ดร.ปณิธาน ชี้ว่า เหตุปัจจัยข้อนี้เป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่แล้ว คือเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ หรือเปลี่ยนหน่วยกำลังใหม่ จะยกระดับการก่อเหตุของตัวเองขึ้นมา ปฏิบัติการก่อความรุนแรงจะเข้มข้นขึ้น ยิ่งมีการปรับเปลี่ยนผู้นำเหล่าทัพหรือผู้บัญชาการกองกำลัง สถานการณ์ในภาคใต้ก็จะโหมแรง "ผมเชื่อว่าฝ่ายก่อความไม่สงบมีสันชาตญาณตรงนี้อยู่ เพราะรู้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านมีความละเอียดอ่อนมาก เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล กว่าจะตั้งแฟ้ม อ่านรายงาน กว่าจะสั่งการได้ มันใช้เวลานาน จึงเป็นรอยต่อที่จุดประกายความรุนแรง ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะช่วงที่คุณชวน หลีกภัย เข้ามา หรือคุณทักษิณ ชินวัตร เข้ามาก็เหมือนกันหมด"
3.กลุ่มก่อความไม่สงบบางส่วนมีความเข้มแข็งมากขึ้น
ดร.ปณิธาน บอกว่า วิเคราะห์ปัจจัยนี้จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ทำให้เห็นว่าในแง่ขีดความสามารถ ประสบการณ์ ความชำนาญ เครื่องไม้เครื่องมือ หรือแม้แต่จำนวนวัตถุระเบิด คนที่ทำงานเป็นเซลล์ต่างๆ ของโครงสร้าง กลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นกว่าเดิมจริงๆ
"แกนนำกลุ่มผู้ก่อการหลายคนที่ถูกจับกุมได้ สารภาพไว้ชัดเจนถึงการจัดเซลล์ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร การจัดการในพื้นที่เป็นอย่างไร ฝึกฝนจากที่ไหน ส่งกำลังบำรุงกันอย่างไร แม้เราจะไม่ได้เชื่อทั้งหมด แต่ดูจากการโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มกันครู หรือขบวนคุ้มกันอื่นๆ หลายกรณีสามารถปลดปืนไปได้หลายกระบอก หรือแม้แต่การหาข่าว และการโจมตีสาธารณูปโภคสำคัญๆ เห็นชัดว่าสงครามกองโจรของเขาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเยอะ ทำงานเป็นระบบขึ้น มีเซลล์ที่เข้มแข็งขึ้น ระเบิดต่างๆ ก็ไหลเข้ามา เรายังควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเซลล์บางเซลล์ที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกเซลล์ที่ทำได้ สถานการณ์จึงยังทรงๆ อยู่"ดร.ปณิธาน สรุปว่า เหตุปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ปะทุขึ้นอีกครั้ง วิธีแก้ก็คงต้องไปแก้ตั้งแต่ปัญหาโครงสร้าง กอ.รมน. รวมทั้งนำนโยบายเชิงรุกทางการเมืองใหม่ๆ เข้าไปในพื้นที่ และหาทางกำจัดเซลล์ที่แข็งแกร่งต่างๆ
"ที่ผ่านมานโยบายเชิงรุกการเมืองทำไม่ค่อยได้ เพราะรัฐมนตรีไม่ค่อยได้ลงพื้นที่ และนายกรัฐมนตรีก็มอบหมายให้ทหารทำทั้งหมด ทหารเองก็เน้นเชิงปฏิบัติการ แต่ไม่มีนโยบายเชิงรุกทางการเมืองมากมายนัก สิ่งที่ทหารทำได้ดีคือสามารถคุมพื้นที่ได้หลายแห่ง และทำโครงการร่วมกับคนในพื้นที่ได้ดีขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอ" "ต้องยอมรับว่ากำลังส่วนใหญ่ยังมีปัญหา ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นยาก เพราะเราใช้กองกำลังที่ถูกส่งลงไปจากหลายกองทัพภาค ก็จะมีปัญหาในตัวเองอยู่แล้ว การปรับให้ยืดหยุ่นขึ้นทำไม่ง่าย เมื่อกองกำลังไม่อ่อนตัว การแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ก็ทำได้ยาก สิ่งที่ทำได้ก็คือตรึงกำลังในจุดสำคัญๆ แต่ในระดับพื้นที่ยังมีช่องโหว่ ซึ่งทั้งทหารและตำรวจก็พยายามอุดช่องโหว่ตรงนี้ ด้วยการฝึกกองกำลังประจำถิ่นแล้วส่งเข้าไปทำงาน" ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยว่า เรื่องการจัดโครงสร้างถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกองทัพส่งกำลังลงไปมาก หากจัดไม่ดีจะกลายเป็นเป้านิ่ง แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยจะทำได้ดี เพราะใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมา แต่ในระยะยาวอาจชนเพดาน จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างการจัดกำลังโดยด่วน
เป็นคำเตือนจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร
ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสมควรจักต้องเงี่ยหูฟัง!
ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสมควรจักต้องเงี่ยหูฟัง!
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3859&Itemid=86
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3859&Itemid=86
1 ความคิดเห็น:
เห็นด้วยอย่างยิ่ง
แสดงความคิดเห็น