ความก้าวหน้าของพันธมิตรฯ

ความก้าวหน้าของพันธมิตรฯ “ชัยชนะ” ของการเมืองภาคประชาชน

นับแต่วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมประชาชนได้ร่วมกันชุมนุมใหญ่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเคลื่อนขบวนมาปักหลักพักค้างที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก ก่อนจะบรรลุเป้าหมายเคลื่อนย้ายมวลชนนับแสนปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล จนถึงวันนี้นับเป็นเวลายาวนานกว่า 1 เดือนแล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมา การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เกิดพัฒนาการ และ ผลสำเร็จอันส่งผลดีต่อประเทศชาติดังนี้

1. ชุมนุมครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 เคลื่อนตัวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาอยู่ที่สะพานมัฆวาน ถนนราชดำเนินนอกสำเร็จ

2. เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ตำรวจจึงได้ชี้ขาด จักรภพ เพ็ญแข ว่าหมิ่นเบื้องสูง และทำให้ จักรภพ เพ็ญแข ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเปิดแถลงข่าวในวันที่ 30 พ.ค. 2551 และมีการลาออกมีผลวันที่ 9 มิถุนายน 2551

3. รัฐบาลประกาศว่าได้ต่อรองโรงกลั่น 4 แห่ง ให้ลดค่าการกลั่นลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 6 เดือน โดยจะช่วยเหลือในปริมาณน้ำมันดีเซลในราคาส่วนลด 122 ล้านลิตร/เดือน

4. สมาชิกวุฒิสภาถอนรายชื่อออกจากญัตติการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพื่อฟอกความผิดของคนในระบอบทักษิณ จนมีจำนวนเสียงไม่เพียงพอและทำให้ญัตติต้องล้มไป หลังจากที่พันธมิตรฯยื่นรายชื่อกว่า 3 หมื่นคน ถอดถอนนักการเมืองที่เข้าชื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพราะมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งยังส่งผลให้ชาติประหยัดเงินภาษีอากรของประชาชนได้อีกกว่า 2,400 ล้านบาท

5. สมัคร สุนทรเวช ต้องกลับลำหลังจากประกาศที่จะแตกหักกับพันธมิตรฯ เพราะมีประชาชนจำนวนมหาศาลนับแสนคน ทั่วทุกสารทิศมาร่วมชุมนุมร่วมกับพันธมิตรฯ หลังจากการประกาศกร้าวของนายกรัฐมนตรี

6. รัฐบาลยกเลิกข้าวธงฟ้า รับจำนำข้าวปลือกตันละ 14,000 บาท หลังจากพันธมิตรฯได้อภิปรายเปิดโปงความล้มเหลวของรัฐบาล ในการจัดการปัญหาราคาข้าว

7. หลังจากที่ไม่สามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ทนายทักษิณ ได้นำเงิน 2 ล้านบาทใส่ถุงขนมมาให้เจ้าหน้าที่ในศาลฎีกา จนเป็นเหตุทำให้ศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุกทีมทนายของทักษิณ 3 คนเป็นเวลา 6 เดือนในเวลาต่อมาโดยไม่รอลงอาญา โดยระบุว่าต้องการทำให้เกิดการชักจูงต่อกรณีที่ คตส. ได้ฟ้องในคดีการซื้อที่ดินรัชดาของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร

8. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ล้มเหลวและต้องถอยในการสั่งปิดทีวีเคเบิลทีวี
หลังประชาชนได้ลุกฮือต่อสู้กับคำสั่งที่ไม่ชอบทั่วประเทศ

9. หลังจากที่ไม่สามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เจ้าหน้าที่ กกต.ได้ปลอมแปลงเอกสาร และยื่นเอกสารเท็จต่อศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งในคดีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช พันธมิตรฯจึงได้เปิดโปง และกดดันด้วยการเคลื่อนผู้ชุมนุมแบบดาวกระจายไปหน้า กกต. เป็นผลทำให้กกต.ต้องยอมจำนนและตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ กกต. ที่กระทำการดังกล่าว

10. เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ทำให้นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องยอมเปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี และแผนที่ที่ได้ไปลงนามแถลงการณ์ยกปราสาทพระวิหาร และพื้นที่เขาพระวิหารร่วมกับกัมพูชาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หลังจากนั้นกลุ่มพันธมิตรฯได้ยื่นต่อศาลปกครองกลาง เป็นผลทำให้ศาลปกครองได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนำมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปใช้ในการลงนาม กับประเทศกัมพูชาได้เป็นผลสำเร็จ

11. พันธมิตรฯ เคลื่อนพลหลายแสนคนมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ โดยไม่ได้มีการทำลายทรัพย์สินทางราชการหรือความวุ่นวายใดๆทั้งสิ้น

12. ภายหลังจากที่พันธมิตรฯเคลื่อนพลหลายแสนมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร ได้กลับลำยอมให้วุฒิสภาอภิปรายทั่วไป และยอมให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธอ้างว่าไม่มีเวลา เพราะต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี

13. ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กับคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หลังจากที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการปลดและเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยา และขัดขวางการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นไปตามที่พันธมิตรฯได้กล่าวหามาก่อนหน้านี้

14. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ต้องประกาศเลื่อนการจัดงานมหาสังฆทาน รวมพลังไทยเพื่อพ่อของแผ่นดิน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 ออกไปโดยไม่มีกำหนด พร้อมกับยอมรับว่า สาเหตุหนึ่งมาจากกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำเรื่องดังกล่าวไปโจมตีบนเวที เนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย มาเป็นประธานจัดงาน โดยมี พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย

15. ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียงว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่ตั้ง คตส.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

16. วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2551 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษาด้วยมติ 9:0 ว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และพื้นที่โดยรอบให้มรดกโลกนั้นเป็นหนังสือสนธิสัญญา และมีมติ 8:1 ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวที่ไม่ผ่านความเห็นชอบต่อรัฐสภานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งเป็นไปตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ต่อสู้เอาไว้ก่อนหน้านี้

17. วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้พิพากษาให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช และเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เป็นบทพิสูจน์ว่า การเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกและทุจริต นั้นเป็นความจริง

18. วันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2551 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติว่านายไชยา สะสมทรัพย์ ได้พ้นสภาพจากรัฐมนตรีนับตั้งแต่ 30 วันที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่แจ้งรายละเอียดการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของภรรยาตามกฎหมาย

19. ช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2551 หลังจากกลับมาจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศแคนาดา นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศลาออกโดยมีผลในวันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นผลจากการกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯ สื่อมวลชน และภาคประชาชน ให้นายนพดล รับผิดชอบต่อกรณีการลงนามยินยอมให้ประเทศกัมพูชาจดทะเบียน “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: